รู้จักสิวให้มากขึ้น (e-magazine)
จริงอยู่ที่เรื่องสิวเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่ใครบ้างจะอยากให้ใบหน้าเขรอะสิว ซึ่งวิธีที่จะสยบสิวอาจไม่ใช่การเข้าคลินิกหาหมอเพียงอย่างเดียว เพราะคุณควรรู้ที่มาที่ไปและการดูแลตนเองในขั้นเริ่มแรกเสียก่อน
เพ็ญพรรณ วัฒนไกร ผู้ช่วยศาสตราจารย์หน่วยโรคผิวหนัง ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ไขความข้องใจเกี่ยวกับสิวว่า สิวเป็นโรคผิวหนังที่เริ่มพบได้บ่อยในวัยรุ่น เกิดจากสาเหตุร่วมกันคือ การอุดตันในรูขุมขนเกิดเป็น โคมิโดน (สิวเสี้ยน) การขยายขนาดและการหลั่งไขมันเพิ่มของต่อมไขมัน ร่วมกับเชื้อแบคทีเรียในขุมขนทำให้เกิด การอักเสบ เป็นตุ่มหนอง
ปัจจัยที่ทำให้เกิดสิว
1. กรรมพันธุ์/อายุ จะพบมากในวัยหนุ่มสาวเนื่องจาก ฮอร์โมนเพศมีฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของต่อมไขมัน
2. ยา / เครื่องสำอางบางอย่าง เช่น ครีมบำรุงผิว ครีมกันแดด สบู่บางอย่าง น้ำมันแต่งผม ทำให้เกิดการอุดตันของรูขุมขน
3. การระคายเคือง เช่น การเสียดสี ถูไถ การนวดหน้า การล้างหน้า เป็นต้น
4. อารมณ์เครียด ความกังวล ทำให้สิวเห่อได้
5. อาหารบางชนิด อาจมีส่วนกระตุ้น เช่นผู้ป่วยบางรายจะสังเกตพบว่าสิวเห่อจากการรับประทานอาหารบางประเภท เช่น ถั่ว ของหวาน ของมัน ๆ ช็อกโกแลต
6. ผู้หญิงหลายคนสังเกตว่า ช่วงมีประจำเดือนสิวเห่อมากขึ้น ซึ่งเกิดจากความเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย
การปฏิบัติตน
1. หลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้เกิดสิว เช่น เครื่องสำอางที่เพิ่มความมันบนใบหน้า การนวดและการขัดหน้า
2. ล้างหน้า ฟอกสบู่อ่อนเพียงวันละ 2-3 ครั้งเท่านั้น ไม่ควรฟอกสบู่บ่อยเกินไป เพราะจะระคายรูขุมขนและทำให้สิวเห่อ/อักเสบ ขึ้นได้
3. หากต้องใช้เครื่องสำอางหรือโลชั่น ควรเลือกใช้ ชนิดOil-free ที่ไม่ก่อให้เกิดสิว (nonacnegenic) และไม่ก่อการอุดตัน (noncomedogenic)
4. อย่าบีบ หรือแกะหัวสิวให้แตกเอง เพราะจะทำให้อักเสบมากขึ้น หายช้าลง ทำให้เกิดแผลเป็นได้
5. พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทำจิตใจให้แจ่มใส ไม่เครียด หรือวิตกกังวลเกินไป
6. ถ้าเป็นสิวหัวหนอง หรือมีการอักเสบมาก ควรพบแพทย์เพื่อจะได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง เพื่อป้องกันการเกิดแผลเป็นจากสิว
การรักษาสิว ผู้ป่วยควรจะเข้าใจว่า การรักษาสิวต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรในการขจัดการอุดตันของรูขุมขน โดยทั่วไปต้องใช้ยาอย่างสม่ำเสมอนาน 6-8 สัปดาห์ ก่อนจะเริ่มเห็นผลดีขึ้น และมักต้องใช้ยาต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานหลายเดือน
ชนิดของยาแก้สิว
1. ยาทาช่วยลดความมันบนใบหน้าจะลดการอุดตันและการอักเสบได้บ้าง: AHA BHA แป้งน้ำ
2. ยาละลายการอุดตันและโคมิโดน เช่น ยาทากรดวิตามินเอ
3. ยาทาที่ชวยลดเชื้อแบคทีเรียในขุมขน และ ยาทาปฏิชีวนะ ในสิวอักเสบเป็นตุ่มแดง: benzoyl peroxide, clindamycin
4. ยารับประทาน ควรใช้กรณีมีสิวอักเสบมาก หรือมีแผลเป็น โดยยาที่ใช้มักเป็นยากลุ่มปฏิชีวนะ, ยารับประทานวิตามินเอสังเคราะห์ เป็นต้น เนื่องจากยารับประทานรักษาสิวมักจะต้องใช้ติดต่อเป็นเวลาหลายเดือน และพบผลข้างเคียงได้ ดังนั้นควรให้แพทย์เป็นผู้พิจารณาสั่งการรักษา การใช้ยาทารักษาสิว
ยาทาสิวเกือบทุกชนิดอาจทำให้เกิดอาการผิวแดง แห้ง ลอกเล็กน้อยในระยะแรก ขณะที่บางคนอาจมีสิวเห่อขึ้นได้ในระยะแรก
1. อย่าทายาทันทีหลังล้างหน้าใหม่ ๆ ควรรอ 20-30 นาที ให้ผิวแห้งก่อนจะช่วยลดอาการระคายเคืองจากยา
2. ใช้ยาปริมาณเพียงเล็กน้อยทาทั่วบริเวณที่เป็นสิวหลีกเลี่ยงบริเวณผิวอ่อน ๆ เช่น ขอบตา, ข้างจมูก, มุมปาก
3. อาจทายาเพียง 30 นาที – 1 ชั่วโมงแล้วล้างออก ค่อย ๆ เพิ่มเวลาขึ้นช้า ๆ จนไม่เกิดปัญหาการระคาย
4. หากผิวแห้งหรือระคายสามารถใช้ครีมให้ความชุ่มชื้นที่ไม่ก่อให้เกิดสิว (nonacnegenic) และไม่ก่อให้เกิดการอุดตันรูขุมขน (non comedogenic) ตามแพทย์แนะนำ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น