แม้ว่าผลการสำรวจสุขภาพของประชากรสูงอายุไม่ว่าจะในประเทศใด ๆ มักพบว่าผู้หญิงมีอายุยืนกว่า และมีสุขภาพดีกว่าผู้ชาย แต่ผลการวิจัยล่าสุดจากมหาวิทยาลัยเฮิร์ทฟอร์ดเชียร์ ประเทศอังกฤษ กลับเผยการค้นพบที่ดูขัดแย้งกัน เมื่อเจาะจงไปยังโรคอัลไซเมอร์ซึ่งเป็นโรคยอดนิยมในผู้สูงอายุ โดยพบว่าเพศหญิงจะป่วยและถูกรุมเร้าด้วยอาการอัลไซเมอร์ร้ายแรงกว่าในเพศชาย
ผลการวิจัยดังกล่าวได้รับการเผยแพร่ในวารสารการรักษาและการทดลองทางประสาทจิตวิทยา (Journal of Clinical and Experimental Neuropsychology) โดยศาสตราจารย์คีธ ลอว์ส ผู้นำทีมการศึกษา ได้ทำการศึกษาย้อนหลังอย่างละเอียด กับการวิจัยและทดลองในผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ 15 ฉบับโดยพบว่าเพศหญิงจะมีอาการของโรคอัลไซเมอร์รุนแรง และทรุดลงเร็วกว่าเพศชาย โดยเฉพาะในเรื่อง การพูด (Verbal) การเชื่อมโยงภาพที่เห็นกับมิติต่าง ๆ (Visuospatial) การจดจำระลึกได้ถึงเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้น (Episodic memory) และความรู้ทั่วไปที่ไม่เกี่ยวข้องกับประสบการณ์ส่วนตัว (Sematonic memory) แม้จะป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์ในระดับเดียวกันก็ตาม
นอกจากนี้ยังพบอีกว่า สิ่งที่ทำให้ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ผู้หญิงทรุดลงเร็วกว่าผู้ชาย ไม่ได้ขึ้นอยู่กับอายุ ระดับการศึกษา หรือระดับความรุนแรงของภาวะการเสื่อมโทรมของสมอง (dementia) แต่สันนิษฐานว่า น่าจะเชื่อมโยงกับการลดลงของระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนของเพศหญิงในวัยหลังหมดประจำเดือนเสียมากกว่า ซึ่งจำเป็นต้องมีการค้นคว้าวิจัยที่แน่ชัดเพื่อยืนยันการสันนิษฐานนี้ต่อไป
ทั้งนี้โรคอัลไซเมอร์ คือ ภาวะการเสื่อมโทรมของประสิทธิภาพการทำงานของสมอง ซึ่งส่งผลกระทบต่อกระบวนการคิด ความทรงจำ พฤติกรรม และอารมณ์ความรู้สึกของผู้ป่วย ปัจจุบันยังไม่มีทางรักษาให้หายขาด ทำได้เพียงการบำบัดและรักษาไปตามอาการเท่านั้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น